⭐ADISORN ON TOUR อดิศรออนทัวร์⭐   ☎️0925289090

    ⭐ADISORN ON TOUR อดิศรออนทัวร์⭐   ☎️0925289090

เมนู

แหล่งท่องเที่ยว,จุดที่น่าเยี่ยมชม,จุดที่น่าเช็คอิน,จุดที่เป็นศิลปวัฒนธรรมและน่าศึกษาค้นคว้าของเมืองหนองคาย

แหล่งท่องเที่ยวเมืองหนองคาย

หนองคาย: เมืองเงียบสงบริมฝั่งโขง เมืองน่าอยู่อันดับ7จากการโหวตของสมาคมผู้สูงอายุอเมริกัน ที่นี่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่ามาเยี่ยมชมและวัดวาอารามของเกจิอาจารย์ชื่อดังในตำนานเช่น วัดโพธิ์ชัย(วัดหลวงพ่อพระใส),วัดผาตากเสื้อ,วัดถ้ำดินเพียง(วัดศรีมงคล),ธวัดองค์ตื้อ(วัดสีชมพูองค์ตื้อ) อ.ท่าบ่อ,วัดอรัญญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่, วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่, พระธาตุหล้าหนอง(พระธาตุกลางน้ำ),ภูลำดวน,ภูห้วยอีสัน,พันโขดแสนไคร้,ทุ่งทานตะวันบ้านหาดคำ,พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจังหวัดหนองคาย ฯลฯ

ภาพถ่ายองค์จริงหลวงพ่อพระใส พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองหนองคาย

ภาพถ่ายองค์จริงหลวงพ่อพระใส พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองหนองคาย

ประวัติและความเป็นมา:หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัยพระอารามหลวง

หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปที่หล่อขึ้นในสมัยล้านช้าง ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า พระธิดา3องค์แห่งกษัตริย์ล้านช้างในขณะนั้นเป็นผู้สร้างและขนานนามตามพระนามของแต่ละพระองค์ว่า พระเสริม พระสุก พระใส มีขนาดลดหลั่นลงตามลำดับ พระใสเป็นพระพุทธรูปประจำองค์สุดท้อง เดิมทีหลวงพ่อพระใสประดิษฐาน ณ เมืองเวียงจันทน์

พ.ศ.2321 พระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระเจ้าตากสินมหาราช ได้อัญเชิญหลวงพ่อพระใสมาไว้ที่เมืองเวียงคำและถูกอัญเชิญมาไว้ที่วัดโพนชัยเมืองเวียงจันทน์ตามลำดับ

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่3 พระเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ได้ก่อกบฏ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์เป็นจอมทัพยกพลมาปราบ หลังจากนั้นจึงได้อัญเชิญ พระเสริม พระสุกและพระใสลงมาด้วย โดยอัญเชิญจากภูเขาควาย(ภูเขาที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเหล็กไหลและพระเกจิชื่อดังสายกรรมฐานหลายองค์)ขึ้นประดิษฐานบนแพไม้ไผ่ที่สร้างขึ้นอย่างมั่นคงแข็งแรงแล้วล่องแพมาตามลำน้ำงึมเมื่อมาถึงตรงบริเวณเวินแท่น(ขณะนั้นยังไม่มีชื่อเรียก)ได้เกิดพายุฝนกระหน่ำอย่างหนักหน่วงจนเป็นเหตุให้แท่นประดิษฐานพระเสริมจมลง ณ บริเวณดังกล่าวและหลังจากนั้นเป็นต้นมาบริเวณดังกล่าวก็ได้ถูกขนานนามว่า"เวินแท่น"จนถึงปัจจุบัน

การล่องแพยังคงดำเนินต่อไปตามลำดับจนแพแล่นผ่านปากน้ำงึมเข้าสู่ลำน้ำโขง เมื่อแพแล่นมาใกล้ถึงบ้านหนองกุ้ง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ณ จุดนี้ก็ได้เกิดพายุฝน ลมแรง ซัดกระหน่ำขบวนแพอย่างหนักหน่วงอีกรอบ จนในที่สุดพระสุกได้แหกแพจมลงแม่น้ำโขง ณ บริเวณดังกล่าวมาจวบจนถึงปัจจุบันและนับแต่นั้นเป็นต้นมา บริเวณดังกล่าวก็ได้ถูกขนานนามว่า"เวินสุก"ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ส่วนพระพุทธรูปที่เหลืออยู่บนแพในขณะนั้นมีเพียงพระเสริมกับพระใสที่ได้ล่องแพมาตามลำน้ำโขงจนถึงจังหวัดหนองคาย พระเสริมถูกอัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัยส่วนพระใสถูกอัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ วัดหอกล่องหรือวัดประดิษฐ์ธรรมคุณในปัจจุบัน

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่4 สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าให้ขุนวรธานีและเจ้าเหม็น(ข้าหลวง)อัญเชิญพระเสริมกับพระใสจากเมืองหนองคายไปกรุงเทพมหานครด้วยกัน พอขบวนเกวียนมาถึงวัดโพธิ์ชัย หลวงพ่อพระใสก็ได้แสดงปาฏิหาริย์จนเกวียนหักบรรดาเหล่าขุนพลทั้งหลายได้ใช้ความพยายามอยู่หลายครั้งเพื่อจะเคลื่อนขบวนต่อแต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายจึงได้แต่พระเสริมลงไปกรุงเทพฯเพียงองค์เดียว ปัจจุบันพระเสริมประดิษฐานอยู่ที่วัดปทุมวนาราม(วัดที่ตั้งอยู่ระหว่างสยามพารากอนกับเซ็นทรัลเวิลด์)กรุงเทพมหานคร ส่วนหลวงพ่อพระใสได้ถูกอัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัยเมืองหนองคายจวบจนถึงปัจจุบัน จากการที่หลวงพ่อพระใสได้แสดงปาฏิหาริย์หลายต่อหลายครั้งจนได้สมญานามว่า "หลวงพ่อเกรียนหัก" 

👉เพิ่มเติม: ในบางตำนานกล่าวไว้ว่าพระธิดาทั้ง 3 พระองค์คือพระเสริม พระสุกและพระใส คือพระธิดาของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้ครองนครหลวงเวียงจันทน์ในขณะนั้นและว่ากันว่า พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้หล่อสำเร็จขึ้นมาได้ด้วยความร่วมมือกันทั้งมนุษย์และเทวดา ว่ากันว่าในคราวที่หล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ได้ใช้เวลาในการทำการหล่อหลายวันแต่ไม่แล้วเสร็จ จนกระทั่งเหล่าบรรดาช่าง ประชาชนและข้าราชบริพารต่างๆพากันเหนื่อยล้าจากการหล่อพระจนหมดเรี่ยวแรงไปตามๆกันและพากันเผลอหลับไปและในระหว่างที่พากันหลับไหลอยู่นั้นได้มีชีปะขาวจำนวนหนึ่งได้พากันมาช่วยกันเททองหล่อพระทั้ง 3 องค์นี้ต่อจนแล้วเสร็จก่อนรุ่งอรุณ หลังจากที่ช่างหล่อ ประชาชนและข้าราชบริพารทั้งหลายตื่นขึ้นในช่วงเช้าปรากฏเป็นอัศจรรย์ว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ถูกหล่อขึ้นจนเรียบร้อยแล้วและต่างมาทราบกันภายหลังว่าเหล่าชีปะขาวที่มาช่วยกันหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ก็คือเทวดาที่แปลงกายลงมานั่นเอง...จบบริบูรณ์

พระธาตุหล้าหนอง(พระธาตุกลางน้ำ)

พระธาตุหล้าหนอง(พระธาตุกลางน้ำ)

ประวัติและความเป็นมา: ของพระธาตุหล้าหนอง(พระธาตุกลางน้ำ)

พระธาตุหล้าหนองหรือพระธาตุกลางน้ำ: ตั้งอยู่ที่หมู่ 11 ต.หาดคำ อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย โทร: 0422420574

สร้างเมื่อพ.ศ.2390 องค์พระธาตุถูกน้ำกัดเซาะตลิ่งจนองค์พระธาตุไหลลงสู่แม่น้ำโขง ปัจจุบันองค์พระธาตุพลิกตะแคงอยู่กลางลำน้ำโขงอยู่ห่างจากริมฝั่งประเทศไทยประมาณ 200 เมตร ในปัจจุบัน ภายในองค์พระธาตุประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนฝ่าพระบาทจำนวน 9 องค์

ตามตำนานอุรังคธาตุ(ตำนานพระธาตุพนม) จากการสำรวจใต้น้ำของหน่วยโบราณคดีภาค7พบว่า องค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ 17.2 เมตร หักเป็น 3 ท่อน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวสมัยพุทธศตวรรษที่ 20-22 เนื่องจากรูปแบบและรูปทรงการก่อสร้างคล้ายคลึงกับพระธาตุพังพวน ปัจจุบันกรมศิลปากรร่วมกับประชาชนในจังหวัดหนองคาย ได้ร่วมกันก่อสร้างพระธาตุหล้าหนองหรือพระธาตุกลางน้ำจำลองขึ้นเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงความสัมพันธ์ของประชาชนสองประเทศริมฝั่งโขงที่ได้สืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน

ตามประวัติพระธาตุกลางน้ำหรือพระธาตุหล้าหนองนั้นระบุว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าดับขันธปรปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระท่านได้เดินทางจากกรุงราชคฤห์ แคว้นชมพูทวีป(อินเดียในปัจจุบัน) มุ่งสู่แคว้นโคตรบูรเพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการสร้างอุโมงค์บรรจุพระอุรังคธาตุ(กระดูกหน้าอกของพระพุทธเจ้า) เมื่อปี พ.ศ.8 ณ ดอยปณคีรี(ภูกำพร้า)อันเป็นที่ประดิษฐานองค์พระธาตุพนมในปัจจุบัน

ต่อมาพระมหากัสสปเถระ ได้มอบให้พระอรหันต์อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากกรุงราชคฤห์ มาประดิษฐานในดินแดนสุวรรณภูมิลุ่มน้ำโขง

พระมหาสังฆวิชเถระหนึ่งในพระอรหันต์ดังกล่าวได้รับมอบพระบรมธาตุพระบาทเบื้องขวา 9 พระองค์ไปประดิษฐานไว้เมืองหล้าหนองเมื่อ พ.ศ.  2104 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้นำข้าราชบริพารจากเมืองเวียงจันทน์มาร่วมกับชาวบ้านเมืองหนองคายโดยมาตั้งค่ายอยู่ที่วัดธาตุเพื่อทำการก่อสร้างพระมหาเจดีย์ครอบอุโมงค์ หล้าหนองคาย(ตามชื่อเดิม)ก่อด้วยอิฐถือปูน รูปทรงแบบศิลปะล้านช้าง ฐานเจดีย์ 15.80 ม.แล้วตั้งชื่อว่า "พระธาตุหล้าหนองคาย" 

ครั้งหนึ่งพระเทพมงคลรังสี เจ้าคณะจังหวัดหนองคายเคยกล่าวว่า พระธาตุองค์นี้มีขนาดใกล้เคียงกับองค์พระธาตุพนม อำเภอพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งบริเวณวัดมีพื้นที่กว่า 100 ไร่ ตั้งอยู่ริมฝั่งโขงเหมือนกัน

ซึ่งตามประชุมพงศาวดารภาค 70 ได้บันทึกไว้ว่า พอฤดูน้ำหลากแม่น้ำโขงไหลเชี่ยวกราดกัดเซาะตลิ่งบริเวณวัดธาตุ พังทลายไปจนถึงองค์พระธาตุหล้าหนองและพระธาตุก็ได้ไหลลงไปตามดินที่ทรุดตัวไปตามกระแสน้ำไปอยู่กลางลำน้ำโขง เมื่อวันศุกร์ขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 เวลาค่ำในปี รศ.66,จ.ศ.1204,พ.ศ. 2390

ปัจจุบันพระธาตุหล้าหนององค์จริงจมอยู่กลางลำน้ำโขงหากจากฝั่งประเทศไทยประมาณ 200 เมตร ในปัจจุบัน องค์พระธาตุล้มตะแคงไปตามกระแสน้ำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีฐานเหลี่ยมมุมฉากจากด้านหนึ่งโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพียงครึ่งฐาน องค์พระธาตุมีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมเท่าที่ยังเหลืออยู่เป็นชั้นพื้นฐาน2ชั้น ความสูงของเจดีย์เฉพาะส่วนที่จับต้องได้ 12.20 ม.

พระธาตุหล้าหนองเป็นที่เคารพรักของชาวหนองคายและมีประเพณีเกี่ยวกับพระธาตุทุกปี เช่น บุญบั้งไฟเดือน6 การแข่งเรือยาววันออกพรรษาของทุกปี

ผู้ดูแลพระธาตุหล้าหนองคือ นายเอี่ยม โลธิเสวง คณะกรรมการพระธาตุหล้าหนอง ผู้ดูแลพระธาตุกลางน้ำและอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงมากว่าครึ่งชีวิต

👉เพิ่มเติม: ถือเป็นการทำตามพินัยกรรมของพระเทพวิทยาคมหรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ หลังจากท่านได้ละสังขารไปเมื่อ 16 พ.ค.2558 และท่านได้บริจาคร่างกายให้เป็น"ครูใหญ่" ให้กับคณะกายวิภาคศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จนกระทั่งเวลาผ่านไปเกือบ4ปี ตามความประสงค์ของสุดท้ายของ "เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด" ก็มาถึงหลังจากพิธีพระราชทานเพลิงศพของหลวงพ่อคูณเมื่อ 29 ม.ค.62 ณ เมรุชั่วคราว วัดหนองแวง จ.ขอนแก่น ในช่วงเช้าของวันที่ 30 ม.ค.2562 ได้มีการทำพิธีลอยอังคารของหลวงพ่อคูณ ตามเจตนารมณ์ของท่าน ณ บริเวณพระธาตุหล้าหนองหรือพระธาตุกลางน้ำแห่งนี้ หน่วยรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดขบวนเรือจำนวน 18 ลำเข้าร่วมในการลอยอังคารของหลวงพ่อคูณในครั้งนั้น


พระธาตุบังพวน อ.เมืองหนองคาย

พระธาตุบังพวน อ.เมืองหนองคาย

ประวัติและความเป็นมา: ของพระธาตุพังพวน

พระธาตุพังพวน เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองหนองคาย ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุพังพวน เลขที่172หมู่3 ต.พระธาตุพังพวน อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย พื้นที่ 102 ไร่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกายและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

พระธาตุพังพวนสร้างเมื่อปีพ.ศ 2210 เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสร้างด้วยศิลาแลงอิฐดินเผา โบราณวัตถุภายในวัดได้แก่ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ 1 องค์, พระปรางค์นาคปรก 1 องค์, ศิลาจารึก 1 หลัก, พระปรางค์ 3 องค์, เจดีย์เล็กเจ็ดองค์และองค์พระธาตุพังพวน

👉ความเป็นมาของพระธาตุพังพวน: ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวไว้ว่า พระยาสุวรรณพิงคาน เจ้าเมืองหนองหาน สกลนคร พระคำแดงเจ้าเมืองหนองหานน้อย อุดรธานีและพระยาจุลณีพรหมทัติ เจ้าเมืองจุลณี(ลาวเหนือ แคว้นสิบสองจุไทย) พระยาอินทปัตถนคร เจ้าเมืองอินทปัตถนคร(เขมร)และพระอานันทเสน เจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์หลวง กษัตริย์ทั้ง 5 พระองค์ได้ทรงพระอุปถัมภ์พระมหากัสสปะเถระพร้อมด้วยพระอรหันต์อีก 500 รูป ก่อสร้างพระธาตุพนมจนแล้วเสร็จแล้วต่อมากษัตริย์ทั้ง 5 ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลและได้ออกเดินทางไปยังประเทศอินเดียเพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 45 องค์ มาประดิษฐานในสถานที่ 4 แห่งได้แก่

–อัญเชิญพระธาตุหัวเหน่าจำนวน 29 องค์มาประดิษฐานไว้ที่พระธาตุพังพวนหรือภูเขาหลวง

–อัญเชิญพระธาตุฝ่าพระบาทก้ำขวาจำนวน 9 องค์มาประดิษฐานไว้ที่เจดีย์พระธาตุกลางเมืองล้าหนองคายซึ่งปัจจุบันคือพระธาตุกลางน้ำที่จมอยู่กลางลำน้ำโขง

–อัญเชิญพระธาตุเขี้ยวฝางจำนวน 4 องค์มาประดิษฐานไว้ที่ พระธาตุโพนจิกเวียงวัง บ้านปะโค เมืองหนองคาย

–อัญเชิญพระธาตุเขี้ยวฝางจำนวน 4 องค์มาประดิษฐานไว้ที่เจดีย์พระธาตุหอผ้าหอแพ เมืองเวียงจันทน์

👉พระธาตุพังพวน: นอกจากองค์พระธาตุแล้วยังมีกลุ่มโบราณสถานที่เรียกว่า"สัตตมหาสถาน"ที่สร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนา อันหมายถึงการจำลองสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าหลังจากที่ตรัสรู้แล้วจำนวน 7 แห่งคือ โพธิบัลลังก์, อนิมมิสเจดีย์, รัตนจงกลมเจดีย์, รัตนฆรเจดีย์, อชาปาลนิโครธเจดีย์, มุจลินทเจดีย์และราชายตนะเจดีย์ ซึ่งในวัดพระธาตุพังพวนแห่งนี้นับเป็นที่เดียวในโลกที่ยังหลงเหลือโบราณสถานที่เป็น"สัตตมหาสถาน"จากอดีตครบเจ็ดอย่าง

👉และเป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพญานาคโดยเฉพาะ"สระมุจลินท์"หรือสระพญานาค"สระน้ำโบราณที่มีบันทึกไว้ในหนังสือใบลานที่เขียนเป็นภาษามคธว่า"สระมงคลน้ำเที่ยงหมัน"

👉เมื่อครั้งได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าบรรจุไว้ในองค์พระธาตุ ได้เกิดปรากฏการณ์ประหลาดที่มีสายน้ำพวยพุ่งออกมาจากพื้นดิน พระมหาเทพหลวงและพระมหาเทพพล พระภิกษุที่ดูแลองค์พระธาตุ ได้สังเกตเห็นว่ามีน้ำพวยพุ่งขึ้นมาตลอดเวลาจากปล่องภูพญานาคที่เฝ้ารักษาองค์พระธาตุพังพวน ท่านจึงได้ชักชวนญาติโยมขุดสระรองรับน้ำเอาไว้และสร้างรูปปั้นพญานาค 7 เศียรไว้กลางสระแห่งนี้ในรูปแบบศิลปะล้านช้าง

👉ในสมัยพระเจ้าวิชลราช: กษัตริย์แห่งล้านช้างได้เสด็จมานมัสการพระธาตุในช่วงปี พ.ศ. 2043-2063 ได้โปรดให้มีการปรับปรุงสระน้ำแห่งนี้และนิมนต์พระคุณเจ้าจัดทำพิธีมหาพุทธาภิเษก สระมุจลินท์ สระมุจลินท์แห่งนี้ถือเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แล้วได้ถูกนำน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไปใช้ในพิธีสำคัญในราชสำนักล้านช้างเป็นต้นมา

👉ต่อมาในสมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช(พ.ศ. 2093-2115) กษัตริย์ล้านช้างได้โปรดเกล้าให้สร้างพระพุทธรูปนาคปรก 9 เศียร ไว้ในบริเวณใกล้เคียงกันด้วยซึ่งเห็นได้ว่าในยุคสมัยพุทธกาลก็มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพญานาคให้เห็นได้ในทุกยุคทุกสมัยแม้ว่าจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็ตาม

👉ปัจจุบันสระมุจลินท์แห่งนี้: ถือเป็นสระน้ำสำคัญประจำจังหวัดหนองคายน้ำในสระน้ำแห่งนี้ถูกนำไปใช้ในพิธี "สรงมูรธราชาภิเษก"หรือ "พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา" และพิธีสำคัญในรัชกาลปัจจุบันเป็นประจำ

👉เชื่อกันว่า: การได้ไหว้สักการะพระธาตุอันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์นั้นจะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลในชีวิตของผู้ที่สักการะบูชาด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏

👉เวลาเปิดทำการ: 08:00–17:00



ลานพญานาคคู่ หน้าวัดลำดวน

ลานพญานาคคู่ หน้าวัดลำดวน

ลานพญานาคคู่หน้าวัดลำดวน: จุดเช็คอินแห่งใหม่ของจังหวัดหนองคาย

ประวัติและความเป็นมา

ลานพญานาคคู่หน้าวัดลำดวน: ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดหนองคายไปเรียบร้อยแล้วครับ ลำตัวขององค์พญานาคมีความสูง 15 เมตร ความยาวลำตัว 45 เมตร ตั้งอยู่ที่หน้าวัดลำดวนและติดกับตลาดท่าเสด็จในเขตเทศบาลเมืองหนองคายและปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นลานวัฒนธรรมประจำจังหวัดหนองคายไปเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันได้ถูกใช้ในการจัดแสดงและกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการจัดแสดงต่างๆของจังหวัดหนองคายเป็นแลนด์มาร์คอีก 1 จุด ที่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองหนองคายต้องมาเที่ยวชมความอลังการขององค์พญานาคและถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกและสามารถเยี่ยมชมได้ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆและยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไปได้อีกด้วย

ศาลาแก้วกู่ อ.เมือง หนองคาย

ศาลาแก้วกู่ อ.เมือง หนองคาย

ประวัติและความเป็นมา

ผู้สร้าง:ปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์ หรือ ปู่เหลือ(พ.ศ.2476–2539)

สร้างเมื่อ: พ.ศ. 2521 สร้างจากความเชื่อและแรงบันดาลใจที่ว่า หลักคำสอนของทุกศาสนาสามารถนำมาผสมผสานกันได้

รูปแบบ: ปฏิมากรรมจากปูนปั้น คำว่า "กู่" ในศาลาแก้วกู่นั้นมีความหมายว่า"กุฏิ","อาวาส" หรือ "ศาลา" เพราะฉะนั้นคำว่าศาลาแก้วกู่จึงเป็นคำซ้อนที่มีความหมายว่า"ศาลาแก้ว"นั่นเอง

ศาลาแก้วกู่เปิดให้เข้าชมสวนปฏิมากรรมปูนปั้นส่วนที่อยู่กลางแจ้งได้ตั้งแต่เวลา 06:00–18:00 แต่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปกราบสักการะร่างของปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์ บนศาลาแก้วกู่ชั้น3ได้เฉพาะเวลา 07:00–17:00

โทรศัพท์: 081-3695744



วัดผาตากเสื้อ อ.สังคม จ.หนองคาย

วัดผาตากเสื้อ อ.สังคม จ.หนองคาย

ประวัติและความเป็นมา

วัดผาตากเสื้อ: ตั้งอยู่ในเขตอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย เดิมมีชื่อว่า"วัดถ้ำพระ" เมื่อครั้งที่หลวงปู่เพชร ปทีโป ท่านได้เดินธุดงค์มาปฏิบัติธรรมอยู่บริเวณนี้จากนั้นท่านก็ได้ก่อตั้งเป็นวัดขึ้นโดยใช้ชื่อว่า "วัดผาตากเสื้อ" ในปี พ.ศ 2477 บนเนื้อที่ 29 ไร่ 2 งาน 78 ตารางวา วัดผาตากเสื้อเป็นวัดสายปฏิบัติ ต่อมาได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานเมื่อ 2 เมษายน 2550 เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วไป นักท่องเที่ยวและผู้มาเยี่ยมชมวัดได้สักการะบูชา

วัดผาตากเสื้อถือเป็นวัดที่มีทิวทัศน์สวยงามและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดหนองคายตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 550 เมตร นอกจากนี้วัดผาตากเสื้อ ยังเป็นวัดที่มีจุดชมวิวแม่น้ำโขงที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดหนองคายเลยทีเดียว หากมองจากจุดชมวิวบนยอดผาตากเสื้อในช่วงที่แม่น้ำโขงลดระดับลงจะมองเห็นสันทรายเป็นริ้วคล้ายเกล็ดพญานาคกลางลำน้ำโขงอย่างชัดอย่างชัดเจน

วัดผาตากเสื้อยังได้รับการตั้งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเส้นทางในฝัน (Dream Destination2) จาก ท.ท.ท. อีกด้วยนั่นก็คือ "เกล็ดพญานาคริมโขง" จากจุดชมวิวบนยอดผาตากเสื้อหากมองเอียงไปทางซ้ายเราจะมองเห็นวิวแม่น้ำโขงวาดยาวโค้งเป็นคุ้งน้ำโดยมีเกาะขนาดใหญ่อยู่กึ่งกลางลักษณะคล้ายรูปตัว y และมองเห็นแนวเขตประเทศเพื่อนบ้าน(สปป.ลาว)อย่างชัดเจน

นอกจากจุดชมวิวทางธรรมชาติแล้ววัดผาตากเสื้อยังมีจุดชมวิว "สกายวอล์ก" ที่เป็นพื้นกระจกใสที่มองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างอย่างชัดเจนโดยไม่มีสิ่งใดบดบังสายตาเลยและสกายวอล์คแห่งนี้ยังเป็นสกายวอล์คแห่งแรกของประเทศไทยด้วย

วัดถ้ำดินเพียง(วัดถ้ำศรีมงคล)

วัดถ้ำดินเพียง(วัดถ้ำศรีมงคล)

ประวัติและความเป็นมา

วัดถ้ำศรีมงคล(ถ้ำดินเพียง): ที่มาของชื่อ "ถ้ำดินเพียง"ว่ากันว่ามาจากการเรียกของชาวบ้านซึ่งโดยปรกติทั่วไปทางเข้าถ้ำส่วนใหญ่มักจะอยู่สูงกว่าพื้นดินซึ่งเดิมทีชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่ดินแห่งนี้ก็ไม่ทราบมาก่อนว่ามีถ้ำอยู่ในที่ดินของตนเองชาวบ้านจึงเรียกชื่อตามสภาพว่าถ้ำดินเพียงเพราะอยู่เสมอกับพื้นดินและต่อมาในภายหลังชาวบ้านนิยมเรียกถ้ำแห่งนี้ว่า"ถ้ำพญานาค"

พิกัด: บ้านดงต้อง ตำบลผาตั้ง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ด้านหน้าทางลงสู่ภายในถ้ำจะมีศาลพ่อปู่อินทร์นาคราชและย่าเกศนาคราช ก่อนที่เราจะเข้าสู่ภายในถ้ำเราจะต้องมาสักการะและขอขมาก่อนที่จะลงสู่ภายในถ้ำพร้อมกับเจ้าหน้าที่นำทาง

ตามตำนานกล่าวว่า ถ้ำแห่งนี้เป็นเสมือนหนึ่งว่าเป็นเส้นทาง ขึ้น-ลง ระหว่างเมืองบาดาลกับโลกมนุษย์ของพญานาค ลักษณะทางกายภาพและโครงสร้างของถ้ำแห่งนี้มีลักษณะคล้ายเมืองบาดาลที่เป็นที่อยู่ของพญานาคมาก กล่าวคือภายในถ้ำจะมีความชื้นและน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดทั้งปีแต่ไม่ใช่น้ำในปริมาณมากถึงขั้นท่วมขังภายในถ้ำและลักษณะของหินที่มีอยู่ภายในถ้ำจะเป็นแท่งๆตั้งอยู่ราวกับว่ามีการจัดวางไว้เป็นอย่างดี

หากท่านใดมีความประสงค์จะเข้าไปสัมผัสเมืองบาดาลหรือถ้ำพญานาคอย่างใกล้ชิดให้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทางวัดห้ามลงถ้ำโดยพละการโดยเด็ดขาดการเข้าสู่ภายในถ้ำจะต้องมีเจ้าหน้าที่วัดเป็นไกด์นำทางและต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่อย่างเคร่งครัดค่าบริการสำหรับนักท่องเที่ยวท่านละ 100 บาท โดยท่านหย่อนลงในตู้บริจาคด้วยตัวเอง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและแบ่งเบาภาระ ค่าไฟและค่าบริหารจัดการต่างๆของทางวัดซึ่งทางวัดเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด


พิกัด:ทุ่งทานตะวันบ้านหาดคำ ทุ่งทานตะวันหนึ่งเดียวในจังหวัดหนองคาย ที่ตั้ง: บ้านหาดคำ ตำบลหาดคำ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย อยู่ห่างจากตัวเมืองหนองคายไปทางตะวันออก ประมาณ 10 กิโลเมตร

พิกัด:ทุ่งทานตะวันบ้านหาดคำ ทุ่งทานตะวันหนึ่งเดียวในจังหวัดหนองคาย ที่ตั้ง: บ้านหาดคำ ตำบลหาดคำ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย อยู่ห่างจากตัวเมืองหนองคายไปทางตะวันออก ประมาณ 10 กิโลเมตร

X